วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

วิวัฒนาการธนบัตรไทย​

วิวัฒนาการธนบัตรไทย​
ก่อนที่จะมีการนำธนบัตรเข้ามาใช้ร่วมกับเงินตราชนิดอื่น ๆ ในระบบการเงินของประเทศ ชนชาติไทยได้ใช้หอยเบี้ย  ประกับ (ดินเผาที่มีตราประทับ) เงินพดด้วง  ปี้กระเบื้อง  และเหรียญกษาปณ์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน​

 
ห้องเปิดโลกเงินตราไทย
จัดแสดงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  เงินตราในภูมิภาคสุวรรณภูมิและ​​วิวัฒนการเงินตราไทยจนเป็นกษาปณ์ในปัจจุบันคือ

1. เงินตราโบราณ 


นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสุวรรณภูมิ...ดินแดนทองแห่งการค้า จุดบรรจบของโลกตะวันตกและตะวันออกนำเสนอด้วยวีดิทัศน์  ในรูปแบบของ Animation  ส่วนวัตถุพิพิธภัณฑ์ประกอบการจัดแสดงเป็นโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ อาทิ หม้อบ้านเชียง สร้อยลูกปัดสีน้ำเงิน  ลูกปัดดินเผาบ้านเชียง  กำไลหิน ต่างหูหิน  ขวานหิน  ขวานสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก่อนมีเงินตรา   สำหรับเงินตราโบราณที่จัดแสดงในห้องนี้ ได้แก่  เงินตราสมัยทวาราวดี เหรียญลวปุระที่หาชมได้ยาก เงินดอกจันทน์ของอาณาจักรศรีวิชัย  นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงเงินตราอาณาจักรล้านนา เช่น เงินเจียง เงินท้อก  เงินปากหมู  เงินใบไม้  เงินอาณาจักรล้านช้าง เช่น   เงินลาด เงินฮ้อย ในส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับเงินตราโบราณนี้มีการจัดแสดงเงินตราโบราณของอาณาจักรใกล้เคียงที่มีหลักฐานว่ามีการนำมาใช้ในสมัยโบราณของบริเวณที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน เช่น เงินไซซี  เงินฮาง  เงินตู้

 2. เงินพดด้วง 


จัดแสดงเรื่องราวของเงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินที่ผลิตขึ้นมาใช้กว่า ๖๐๐ ปีนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึง  สมัยรัตนโกสินทร์ และยกเลิกการใช้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕   ในห้องจัดแสดงนี้มีเงินพดด้วงครบทุกยุคทุกสมัย  เงินพดด้วงที่ถือว่าเด่นและดึงดูดสายตาผู้ชมมากคือ พดด้วงตราพระมหามงกุฎ พดด้วงตราช่อรำเพย  ซึ่งเป็นพดด้วงเถาครบชุด หาชมได้ยากและ  พดด้วงทองคำ ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์และหาชมได้ยากเช่นกัน ส่วนรายละเอียดของกระบวนการทำเงินพดด้วงนั้นจัดแสดงในสื่อที่เรียกว่า Diorama  มีเสียงบรรยายประกอบ รวมทั้งจัดแสดงอุปกรณ์การจัดทำเงินพดด้วง นอกจากนี้ยังมี Multimedia ที่แสดงเรื่องราวของการค้าสมัยอยุธยา โดยมีเรือสำเภาโปรตุเกสจำลองที่สามารถแล่นไปมาได้ นอกจากนี้ยังมีการแสดงองค์ประกอบของเงินพดด้วง ตราสัญลักษณ์ของเงินพดด้วงสมัยต่างๆ พดด้วงจำลองขนาดยักษ์ที่หมุนได้รอบทิศ  Jigsaw ที่เป็นตราพดด้วงที่ผู้เข้าชมสามารถต่อเล่นได้  มุมทดสอบน้ำหนักเงินพดด้วง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักและมูลค่าของพดด้วง  และเกมคอมพิวเตอร์เพื่อทดสอบความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของการจัดแสดงในส่วนเปิดโลกเงินตรา

3กษาปณ์ไทย  


จัดแสดงเรื่องราวของเหรียญกษาปณ์ในสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เหรียญช้าง เมืองไท เหรียญดอกบัว เมืองไท จนถึงเหรียญกษาปณ์ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน  เหรียญกษาปณ์ที่เด่นและมีชื่อเสียงในแต่ละสมัย เช่น
  
  • ​​​​เหรียญแต้เม้ง”  สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
  • เหรียญหนวด สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
  • ​เหรียญทองคำต้นแบบ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
นอกจากนี้ ผู้ชมยังสามารถเรียนรู้เรื่องเงินตราในยุคสมัยต่าง ๆ ผ่านจอ Computer  Kiosk ซึ่งมีเนื้อหาในการสืบค้นอย่างละเอียดรอบด้านและส่งท้ายของการเรียนรู้ในห้องเปิดโลกเงินตราด้วยตู้หยอดเหรียญกษาปณ์ที่ผู้ชมสามารถเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตเหรียญกษาปณ์โดยย่อ  แต่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจนพร้อมรับเหรียญที่ระลึกวังบางขุนพรหมเป็นของฝากเพียงหยอดเหรียญ ๑๐ บาท จำนวน ๒ เหรียญ
​จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติและเปิดเสรีทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถผลิตเงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินตราหลักในขณะนั้นได้ทันต่อความต้องการ ทั้งยังมีผู้ทำเงินพดด้วงปลอมออกใช้ปะปนในท้องตลาด จนเป็นปัญหาเดือดร้อนกันทั่วไป ในพุทธศักราช ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้จัดทำเงินกระดาษชนิดแรกขึ้นใช้ในระบบเงินตราของประเทศ เรียกว่า  หมาย

​หมาย 

เป็นกระดาษสีขาวพิมพ์ตัวอักษรและลวดลายด้วยหมึกสีดำ ประทับตราพระราชสัญลักษณ์ประจำพระราชวงศ์จักรีรูปพระแสงจักร และพระราชลัญจกรประจำพระองค์รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ด้วยสีแดงชาด เพื่อป้องกันการปลอมแปลง หมายที่โปรดให้จัดทำมี ๓ ประเภท ได้แก่ หมายราคาต่ำ  หมายราคาตำลึง และหมายราคาสูง  อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่หมายเป็นเงินตราชนิดใหม่ ในขณะที่ราษฎรยังคงคุ้นเคยกับเงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินตราโลหะมาแต่โบราณ จึงไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายตามพระราชประสงค์​ 
​หมายราคาต่ำ
​หมายราคาตำลึง​
​หมายราคาสูง​

อัฐกระดาษ

ต่อมาระหว่างพุทธศักราช ๒๔๑๕ - ๒๔๑๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดปัญหาเหรียญกษาปณ์ชนิดราคาต่ำซึ่งเป็นเงินปลีกที่ทำจากดีบุกและทองแดงขาดแคลน ประกอบกับมีการนำ ปี้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใช้แทนเงินในบ่อนการพนันมาใช้แทนเงินตรา ในพุทธศักราช ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้จัดทำเงินกระดาษชนิดราคาต่ำเรียกว่า อัฐกระดาษ ห้ราษฎรได้ใช้จ่ายแทนเงินเหรียญที่ขาดแคลน แต่อัฐกระดาษก็ไม่เป็นที่นิยมใช้เช่นเดียวกับหมาย  

บัตรธนาคาร

เงินกระดาษชนิดต่อมา คือ บัตรธนาคาร ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศสามธนาคารที่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน และธนาคารแห่งอินโดจีน ได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกใช้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๒, ๒๔๔๑, และ ๒๔๔๒ ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรัฐบาลประสบปัญหาไม่สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้ทันต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ​
บัตรธนาคาร มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดหนึ่งที่ใช้อำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ระหว่างธนาคารกับลูกค้า ดังนั้น การหมุนเวียนของบัตรธนาคารจึงจำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะบุคคลที่มีความจำเป็นต้องติดต่อธุรกิจกับธนาคารดังกล่าวเท่านั้น อย่างไรก็ดี บัตรธนาคารมีส่วนช่วยให้ประชาชนรู้จักคุ้นเคยกับเงินที่เป็นกระดาษมากขึ้น และเนื่องจากมีระยะเวลาการนำออกใช้นานกว่า ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๔๕) ทำให้การเรียกบัตรธนาคารทับศัพท์ว่า แบงก์โน้ต หรือ แบงก์ ในขณะนั้น สร้างความเคยชินให้คนไทยเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกใช้ในภายหลังว่า แบงก์ จนติดปากมาถึงทุกวันนี้
​บัตรธนาคารชนิดราคา ๔๐๐ บาท 
ของธนาคารฮ่องกงและซี่ยงไฮ้
​บัตรธนาคารชนิดราคา ๘๐ บาท
ของธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน
​บัตรธนาคารชนิดราคา ๕ บาท
​​ของธนาคารแห่งอินโดจีน​​

เงินกระดาษหลวง

ขณะเดียวกันรัฐบาลในสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่าบัตรธนาคารที่สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศออกใช้อยู่ในขณะนั้น มีลักษณะคล้ายกับเงินตราที่รัฐบาลควรจัดทำเสียเอง ในพุทธศักราช ๒๔๓๓ จึงได้เตรียมการออกตั๋วเงินของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า เงินกระดาษหลวง โดยสั่งพิมพ์จากห้างกีเชคเก้ แอนด์ เดวรีเอ้นท์ (Giesecke & Devrient) ประเทศเยอรมนี จำนวน ๘ ชนิดราคา เงินกระดาษหลวงได้ส่งมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๕ แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของทางการในการบริหาร จึงมิได้นำเงินกระดาษหลวงออกใช้ 
 
 
 
​​เงินกระดาษหลวงชนิดราคา ๘๐ บาท
​เงินกระดาษหลวงชนิดราคา ๑๐๐ บาท
​เงินกระดาษหลวงชนิดราคา ๔๐๐ บาท

ธนบัตร

​จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๔๕  จึงเข้าสู่วาระสำคัญในการออกธนบัตร กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕ อีกทั้งโปรดให้จัดตั้ง กรมธนบัตร ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและรับจ่ายเงินขึ้นธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕​  จึงนับว่าธนบัตรได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา
ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ นั้น มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันที ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๔๗๑ ซึ่งกำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของธนบัตรจากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอย่างสมบูรณ์
ห้องธนบัตรไทย
จัดแสดงวิวัฒนาการ การใช้เงินกระดาษในระบบเงินตราไทย ตั้งแต่ “หมาย”  ใบพระราชทานเงินตรา” “อัฐกระดาษ” “บัตรธนาคาร” “ตั๋วเงินกระดาษ” หรือ “เงินกระดาษหลวง” มาจนถึงธนบัตรที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

 
 
เงินกระดาษชนิดแรก เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ได้มีการผลิตเงินกระดาษขึ้นใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๖ เรียกว่า หมาย ซึ่งนับเป็นเงินกระดาษชนิดแรกในระบบเงินตราไทย  และมีการผลิตใบสั่งจ่ายขึ้นหลายชนิดราคาเรียกว่า ใบพระราชทานเงินตรา”  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำ อัฐกระดาษออกใช้ระยะสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเงินปลีกระยะหนึ่ง  หลังจากนั้นได้มีการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ระหว่างธนาคารและลูกค้า เรียกว่า บัตรธนาคาร”  ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๓๓ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้พิมพ์ เงินกระดาษหลวง” ขึ้น เพื่อใช้เป็นธนบัตรแต่มิได้นำออกใช้เพราะขาดความพร้อม จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดทำตั๋วสำคัญที่ใช้แทนเงินตรา ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 7 กันยายน ธนบัตรไทยจึงถือกำเนิด ขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  
​ 
ธนบัตรที่นำมาจัดแสดงนี้ มีครบทุกแบบตั้งแต่ธนบัตรแบบหนึ่งเป็นต้นมา รวมทั้งธนบัตรที่ระลึกและบัตรธนาคาร ไม่แต่เท่านั้นยังแสดงรายละเอียดของธนบัตรแต่ละรุ่นว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แสดงแบบร่างสีก่อนที่จะนำมาตีพิมพ์ หรือ มิได้นำมาตีพิมพ์ ธนบัตรที่ตีพิมพ์แล้วแต่มิได้นำออกใช้ ธนบัตรที่หายากเป็นพิเศษ เบื้องหลังของธนบัตรที่น่าสนใจใคร่รู้ เช่น แบ็งก์กงเต็ก ธนบัตรไว้ทุกข์ เป็นต้น
 

 
ห้องธนบัตรต่างประเทศ มีจอภาพขนาดใหญ่ให้ความรู้เรื่องธนบัตรต่างประเทศจากทั่วโลก พร้อมจัดแสดงธนบัตรในบอร์ดกระจกที่ผู้ชมสามารถพลิกชมเองได้ทั้งสองด้าน โดยจัดแสดงธนบัตรในกลุ่มประเทศที่สำคัญซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิก อาทิ กลุ่มผู้นำประเทศอุตสาหกรรม (G8) และกลุ่มธนาคารแห่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACEN) 
 
ประเทศไทยนำธนบัตรออกใช้เป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๕ ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยามรัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๑  โดยมีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (กระทรวงการคลัง ในปัจจุบัน) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล การสั่งพิมพ์และนำออกใช้ธนบัตรภายในประเทศ จนกระทั่ง มีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๕ กิจการทั้งปวงและอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับธนบัตร จึงถูกโอนมาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๒ ธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเป็นผลสำเร็จ จึงได้พิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองภายในประเทศ ได้แก่ ธนบัตรแบบ ๑๑ รวมทั้งแบบอื่น ๆ เป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน 
การจัดทำและนำออกใช้ธนบัตร เป็นหน้าที่หลักสำคัญอีกด้านหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ด้วยธนบัตรเป็นเงินตราที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน เพื่อให้ธนบัตรไทยคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือสมเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่สำคัญในปัจจุบัน 
​ธนบัตรแบบต่างๆ 

​ธนบัตรแบบที่ใช้ในปัจจุบัน

​แบบ 16

 
 

​​​แบบ 15​​​​


​​​​
ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท  ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท 
ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท 
​​
​ธนบัตรชนิดราคา 1000 บาทธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท​ (แบบปรับปรุง)


​ธ​นบัตรที่ระลึก